ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม เดือนกันยายน 2567

ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม เดือนกันยายน 2567
Spread the love

ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม เดือนกันยายน 2567

 

                      ศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ได้ดำเนินการจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อวัดการเปลี่ยนแปลงของ  สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคมของประชาชนในภาคใต้ เก็บแบบสอบถามกับกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ จำนวน 420 ตัวอย่าง

 

              ผลการสำรวจความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม เดือนกันยายน 2567 เปรียบเทียบเดือนสิงหาคม 2567  และคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า

 

รายการ สิงหาคม 2567 กันยายน 2567 คาดการณ์ใน 3 เดือนข้างหน้า
เพิ่มขึ้น/ คงที่/ ลดลง/ เพิ่มขึ้น/ คงที่/ ลดลง/ เพิ่มขึ้น/ คงที่/ ลดลง/
ดีขึ้น เท่าเดิม แย่ลง ดีขึ้น เท่าเดิม แย่ลง ดีขึ้น เท่าเดิม แย่ลง
1. ภาวะเศรษฐกิจโดยรวม 28.60 44.10 27.30 28.50 44.00 27.50 35.80 52.10 12.10
2. รายได้จากการทำงาน 27.00 44.40 28.60 26.70 44.20 29.10 30.60 52.40 17.00
3. รายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นในครอบครัว 32.20 46.30 21.50 32.40 46.50 21.10 32.20 47.50 20.30
4. รายจ่ายด้านการท่องเที่ยว เช่น การเดินทาง ที่พัก อาหาร และอื่น ๆ 29.00 44.70 26.30 28.90 44.50 26.60 34.50 51.30 14.20
5. ความสุขในการดำเนินชีวิต 27.40 45.20 27.40 27.30 45.30 27.40 31.30 45.70 23.00
6. ฐานะการเงิน (รายได้หักรายจ่าย) 28.10 45.20 26.70 28.00 44.60 27.40 30.40 47.60 22.00
7. การออมเงิน 26.20 45.80 28.00 26.00 44.50 29.50 36.80 49.20 14.00
8. การรักษามาตรฐานค่าครองชีพ 27.20 44.50 28.30 26.80 44.30 28.90 34.20 57.20 8.60
9. การลดลงของหนี้สิน 26.30 45.20 28.50 26.10 45.20 28.70 36.10 52.00 11.90
10. ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน 26.20 45.80 28.00 26.20 45.80 28.00 30.40 48.90 20.70
11. การแก้ปัญหายาเสพติด 24.30 45.40 30.30 24.10 45.10 30.80 30.30 48.60 21.10
12. การแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 26.10 45.00 28.90 26.20 44.20 29.60 34.60 45.20 20.20
13. การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ 27.30 45.50 27.20 27.10 44.10 28.80 36.10 52.00 11.90

 

 ความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ด้านเศรษฐกิจและสังคม เดือนกรกฎาคม สิงหาคม และกันยายน 2567

รายการ 2567
กรกฎาคม สิงหาคม กันยายน
1. ภาวะเศรษฐกิจโดยรวม 48.60 48.20 47.80
2. รายได้จากการทำงาน 43.50 43.30 43.10
3. รายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นในครอบครัว 60.60 60.60 60.80
4. รายจ่ายด้านการท่องเที่ยว เช่น การเดินทาง ที่พัก อาหาร และอื่น ๆ 48.70 48.10 47.40
5. ความสุขในการดำเนินชีวิต 50.00 49.40 49.30
6. ฐานะการเงิน (รายได้หักรายจ่าย) 43.10 42.80 42.50
7. การออมเงิน 41.00 40.70 40.60
8. การรักษามาตรฐานค่าครองชีพ 38.80 38.60 38.60
9. การลดลงของหนี้สิน 46.10 45.90 45.70
10. ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน 43.90 43.70 43.70
11. การแก้ปัญหายาเสพติด 38.70 38.30 38.20
12. การแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 34.80 34.60 34.50
13. การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ 40.50 40.40 40.30
14. ความเชื่อมั่นของประชาชนโดยรวม 44.40 44.20 44.00

ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม เดือนกันยายน 2567

                ผศ.ดร.วิวัฒน์  จันทร์กิ่งทอง ผู้จัดการศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ รายงานผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนโดยรวมเดือน กันยายน (44.00) ปรับตัวลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนสิงหาคม (44.20) และเดือนกรกฎาคม (44.40) โดยดัชนีที่มีการปรับตัวลดลง ได้แก่  ภาวะเศรษฐกิจโดยรวม  รายได้จากการทำงาน  รายจ่ายด้านการท่องเที่ยว  ความสุขในการดำเนินชีวิต  ฐานะการเงิน (รายได้หักรายจ่าย)  การออมเงิน  การรักษามาตรฐานค่าครองชีพ การลดลงของหนี้สิน การแก้ปัญหายาเสพติด  การแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ โดยปัจจัยลบที่สำคัญเกิดจากผลพวงของสภาพเศรษฐกิจที่ตกต่ำตั้งแต่ช่วงการแพร่ระบาดของโควิด19 และยังไม่ฟื้นตัวมาจนถึงปัจจุบัน เป็นเพราะนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลขาดความชัดเจนในเชิงรูปธรรม ทั้งนี้ ในช่วงปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา  ประชาชนเพิ่งได้เห็นนโยบายที่เป็นรูปธรรมของรัฐบาล คือ การปรับเปลี่ยนรูปแบบโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต เป็นการโอนเงินให้กับกลุ่มเปราะบางกว่า 14 ล้านคน โดยใช้แหล่งเงินจากงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมปี 2567 จำนวน 1.22 แสนล้านบาท และการบริหารจัดการงบประมาณ ปี 2567 อีกประมาณ 2 หมื่นล้านบาท  ในส่วนเฟสที่สอง สำหรับผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ ยังไม่มีความชัดเจน และประชาชนยังคงต้องรออีกต่อไป

                ถึงแม้ว่าการแจกเงิน 10,000 บาท อาจจะไม่ทำให้เกิดพายุหมุนทางเศรษฐกิจ เนื่องจากเป็นการแจกเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ซึ่งส่วนใหญ่ประชาชนเหล่านี้จะนำไปใช้จ่ายในสิ่งที่จำเป็นเร่งด่วน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของตนเองและครอบครัว ซึ่งประชาชนมองว่า การแจกเงินในสภาพเศรษฐกิจที่ประชาชนมีหนี้ครัวเรือนและขาดสภาพคล่องทางการเงินเช่นนี้ เป็นการต่อลมหายใจให้กับประชาชนที่มีความเดือดร้อนให้ สามารถลุกขึ้นมาสู้ชีวิตได้อีกครั้ง  อย่างไรก็ตามการแจกเงินในช่วงปลายเดือนกันยายน ทำให้การค้าขายในตลาด ร้านค้าขนาดเล็ก หาบเร่ แผงลอยดีขึ้นอย่างชัดเจน แต่อาจจะดีขึ้นในช่วง 1-2 สัปดาห์หลังจากประชาชนได้รับเงินเท่านั้น เนื่องจากประชาชนกลุ่มเปราะบางมีความจำเป็นต้องใช้เงินมาก และอาจจะใช้เงินจนหมดในเวลาอันสั้น จากนั้นไม่นานก็อาจจะกลับมาเดือดร้อนเช่นเดิม ดังนั้น ภาครัฐควรมีนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจอื่น ๆ ควบคู่ไปด้วย เพื่อให้การใช้จ่ายมีความต่อเนื่อง โดยเฉพาะการจูงใจให้ประชาชนนำเงินตนเองมาใช้จ่าย ซึ่งเป็นกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชน อีกทั้ง ควรกระตุ้นการท่องเที่ยวแบบไทยเที่ยวไทย โดยการดำเนินโครงการในลักษณะเดียวกันกับคนละครึ่ง หรือเราเที่ยวด้วยกัน

                จากการแถลง 10 นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลแพทองธาร นั้น ประชาชนต้องการให้รัฐบาลกำหนดไทม์ไลน์ที่ชัดเจน ว่าจะดำเนินโครงการใด ๆ เพื่อตอบโจทย์นโยบายใดบ้าง โดยจะเริ่มดำเนินการได้เมื่อไหร่ และคาดว่าจะเกิดผลเป็นรูปธรรมได้เมื่อใด เนื่องจากประชาชนต้องการเห็นความชัดเจนในเชิงรูปธรรมจากรัฐบาลแพทองธาร เนื่องจากโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตที่ผ่านมีการปรับเปลี่ยนและขยายเวลามาตลอด ทำให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่นว่า รัฐบาลจะสามารถทำได้ตามที่ได้แถลงไว้หรือไม่  ดังนั้น รัฐบาลควรมีแผนการดำเนินงานที่ชัดเจน เพื่อให้ 10 นโยบายเร่งด่วน เกิดผลสัมฤทธิ์เป็นไปตามถ้อยคำที่แถลงต่อรัฐสภา เพื่อให้ปัญหาของประเทศเกิดการแก้ไขอย่างจริงจัง อาทิ การปรับโครงสร้างหนี้ทั้งระบบ  การส่งเสริมและปกป้องผลประโยชน์ของผู้ประกอบการไทย  การปรับโครงสร้างราคาพลังงาน  การสร้างรายได้ใหม่ของรัฐด้วยการนำเศรษฐกิจนอกระบบภาษีเข้าสู่ระบบภาษี  การกระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายและเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพ  การยกระดับเกษตรทันสมัย  การส่งเสริมการท่องเที่ยว  การแก้ปัญหายาเสพติด  การแก้ปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ และการสร้างความเท่าเทียมทางโอกาสและเศรษฐกิจ

จากการสัมภาษณ์และรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในสิ่งที่ประชาชนคาดหวังและต้องการในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ มีดังนี้

  1.  ราคาสินค้าและบริการในประเทศที่สูงขึ้น ล้วนมาจากราคาของพลังงานที่สูงขึ้น ดังนั้น ประชาชนจึงเสนอให้ภาครัฐควรเร่งปรับโครงสร้างราคาพลังงานควบคู่กับการเร่งรัดปรับปรุงกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อลดภาระค่าครองชีพให้ประชาชน
  2. จากสภาพเศรษฐกิจที่ตกต่ำทำให้การจับจ่ายใช้สอยและการท่องเที่ยวในประเทศของประชาชนลดลงเป็นอย่างมาก  ทั้งนี้ ภาครัฐควรเพิ่มมาตรการกระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้น  โดยกระตุ้นและจูงใจให้เกิดการใช้จ่ายด้านท่องเที่ยวในประเทศ เช่น เราเที่ยวด้วยกันคนละครึ่ง โครงการช้อปดีมีคืน  เป็นต้น
  3. ในช่วงปลายเดือนกันยายนจนถึงปัจจุบัน มีผู้ประกอบการจำนวนหนึ่งถือโอกาสขึ้นราคาสินค้าและบริการ เนื่องจากเป็นช่วงที่ประชาชนกลุ่มเปราะบางได้รับเงิน 10,00 บาท   ทั้งนี้ ประชาชนจึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยตรวจสอบการขึ้นราคาสินค้าและบริการของผู้ประกอบการในช่วงนี้
  4. 4. ปัจจุบันกล้องจับความเร็วมีจำนวนมาก อีกทั้งมีการตั้งด่านเพื่อออกใบสั่งค่าปรับจราจร ทำให้ประชาชนจำนวนมากต้องจ่ายค่าปรับ อีกทั้งต้องจ่ายค่าปรับเพิ่มขึ้น จากการปรับเปลี่ยนอัตราค่าปรับจราจรใหม่ โดยประชาชนมองว่า การดำเนินการดังกล่าวเป็นการหาผลประโยชน์เพื่อตนเองของหน่วยงานภาครัฐ มากกว่าความห่วงใยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน  ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความโปร่งใส  ประชาชนจึงเสนอให้ “เงินค่าปรับจราจรทั้งหมดเข้าเป็นเงินรายได้แผ่นดิน” โดยให้ยกเลิกส่วนแบ่งค่าปรับทั้งหมด เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่หน่วยงานภาครัฐเป็นไปอย่างยุติธรรม โดยไม่มีผลประโยชน์แอบแฝง ซึ่งจะทำให้ภาพลักษณ์ของหน่วยงานภาครัฐดีขึ้นในสายตาของประชาชน
  5. ประชาชนต้องการเห็นผู้ที่เข้ามาเป็นนักการเมืองและรัฐมนตรีเป็นผู้ที่มีคุณธรรมจริยธรรมสูงกว่าบุคคลทั่วไป  จึงเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรปรับแก้กฎหมายเพื่อยกระดับมาตรฐานจริยธรรมนักการเมือง และรัฐมนตรีให้สูงขึ้น เพราะนักการเมืองและรัฐมนตรีควรมีคุณธรรม จริยธรรม และซื่อสัตย์สุจริต เป็นที่ประจักษ์
  6. ปัจจุบันปัญหายาเสพติดมีจำนวนมาก และแพร่ระบาดไปในทั่วทุกพื้นที่ ไม่เว้นแม้แต่ในวัดวาอาราม สถานศึกษา ทั้งนี้ ประชาชนจึงเสนอให้ภาครัฐควรออกมาตรการในการแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างเข้มงวด เพื่อสร้างความปลอดภัยและสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ประชาชนในทุกพื้นที่ เช่น การเพิ่มบทลงโทษผู้กระทำผิด และการนำผู้ติดยาเสพติดเข้ารับการบำบัดอย่างทันท่วงที เป็นต้น

                ผลคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่เชื่อว่าภาวะเศรษฐกิจโดยรวม และรายได้จากการทำงานเพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ 35.80 และ 30.60 ตามลำดับ ส่วนความเชื่อมั่นต่อรายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นในครัวเรือน และรายจ่ายด้านการท่องเที่ยว ในอีก 3 เดือนข้างหน้าเพิ่มขึ้น คิดเป็น ร้อยละ 32.20 และ 34.50 ตามลำดับ ในขณะที่ความเชื่อมั่นด้านความสุขในการดำเนินชีวิต การแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และการแก้ปัญหาเศรษฐกิจในอีก 3 เดือนข้างหน้าเพิ่มขึ้น  คิดเป็นร้อยละ 31.30, 34.60  และ 36.10 ตามลำดับ

Facebook Comments Box


Spread the love

Written by 

Related posts

Verified by ExactMetrics