ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม เดือนสิงหาคม 2567

ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม เดือนสิงหาคม 2567
Spread the love

ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม เดือนสิงหาคม 2567

                      ศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ได้ดำเนินการจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อวัดการเปลี่ยนแปลงของ  สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคมของประชาชนในภาคใต้ เก็บแบบสอบถามกับกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ จำนวน 420 ตัวอย่าง

 

              ผลการสำรวจความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม เดือนสิงหาคม 2567 เปรียบเทียบเดือนกรกฎาคม 2567  และคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า

 

รายการ กรกฎาคม 2567 สิงหาคม 2567 คาดการณ์ใน 3 เดือนข้างหน้า
เพิ่มขึ้น/ คงที่/ ลดลง/ เพิ่มขึ้น/ คงที่/ ลดลง/ เพิ่มขึ้น/ คงที่/ ลดลง/
ดีขึ้น เท่าเดิม แย่ลง ดีขึ้น เท่าเดิม แย่ลง ดีขึ้น เท่าเดิม แย่ลง
1. ภาวะเศรษฐกิจโดยรวม 29.00 44.20 26.80 28.60 44.10 27.30 34.60 45.20 20.20
2. รายได้จากการทำงาน 27.10 44.80 28.10 27.00 44.40 28.60 34.30 45.60  20.10
3. รายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นในครอบครัว 32.20 46.30 21.50 32.20 46.30 21.50 35.80 52.10 12.10
4. รายจ่ายด้านการท่องเที่ยว เช่น การเดินทาง ที่พัก อาหาร และอื่น ๆ 29.20 45.00 25.80 29.00 44.70 26.30 30.60 52.40 17.00
5. ความสุขในการดำเนินชีวิต 27.30 46.00 26.70 27.40 45.20 27.40 32.20 47.50 20.30
6. ฐานะการเงิน (รายได้หักรายจ่าย) 28.20 45.60 26.20 28.10 45.20 26.70 34.50 51.30 14.20
7. การออมเงิน 26.50 46.10 27.40 26.20 45.8 28.00 30.80 46.40 22.80
8. การรักษามาตรฐานค่าครองชีพ 27.10 45.10 27.80 27.20 44.50 28.30 30.40 48.90 20.70
9. การลดลงของหนี้สิน 26.50 45.60 27.90 26.30 45.20 28.50 30.30 48.60 21.10
10. ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน 26.40 46.20 27.40 26.20 45.80 28.00 34.30 45.60  20.10
11. การแก้ปัญหายาเสพติด 24.60 45.50 29.90 24.30 45.40 30.30 35.60 45.80 18.60
12. การแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 26.30 45.30 28.40 26.10 45.00 28.90 30.50 43.80 25.70
13. การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ 27.50 45.50 27.00 27.30 45.50 27.20 36.10 52.00 11.90

 

 ความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ด้านเศรษฐกิจและสังคม เดือนมิถุนายน กรกฎาคม และสิงหาคม 2567

รายการ 2567
มิถุนายน กรกฎาคม สิงหาคม
1. ภาวะเศรษฐกิจโดยรวม 49.10 48.60 48.20
2. รายได้จากการทำงาน 43.80 43.50 43.30
3. รายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นในครอบครัว 60.80 60.60 60.60
4. รายจ่ายด้านการท่องเที่ยว เช่น การเดินทาง ที่พัก อาหาร และอื่น ๆ 49.20 48.70 48.10
5. ความสุขในการดำเนินชีวิต 50.10 50.00 49.40
6. ฐานะการเงิน (รายได้หักรายจ่าย) 43.20 43.10 42.80
7. การออมเงิน 41.10 41.00 40.70
8. การรักษามาตรฐานค่าครองชีพ 38.90 38.80 38.60
9. การลดลงของหนี้สิน 46.60 46.10 45.90
10. ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน 43.80 43.90 43.70
11. การแก้ปัญหายาเสพติด 38.40 38.70 38.30
12. การแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 35.00 34.80 34.60
13. การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ 40.70 40.50 40.40
14. ความเชื่อมั่นของประชาชนโดยรวม 44.60 44.40 44.20

ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม เดือนสิงหาคม 2567

                ผศ.ดร.วิวัฒน์  จันทร์กิ่งทอง ผู้จัดการศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ รายงานผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนโดยรวมเดือนสิงหาคม (44.20) ปรับตัวลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนกรกฎาคม (44.40)  และเดือนมิถุนายน  (44.60)  โดยดัชนีที่มีการปรับตัวลดลง ได้แก่  ภาวะเศรษฐกิจโดยรวม  รายได้จากการทำงาน  รายจ่ายด้านการท่องเที่ยว  ความสุขในการดำเนินชีวิต  ฐานะการเงิน (รายได้หักรายจ่าย)  การออมเงิน การรักษามาตรฐานค่าครองชีพ  การลดลงของหนี้สิน  ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน  การแก้ปัญหายาเสพติด  การแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ โดยปัจจัยลบที่สำคัญเกิดจากสภาพเศรษฐกิจของประเทศไทยที่ตกต่ำอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้การใช้จ่ายของประชาชนลดลงเป็นอย่างมาก ซึ่งสาเหตุสำคัญมาจากปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ประกอบกับรายได้ที่เติบโตช้ากว่ารายจ่ายและค่าครองชีพ  ทั้งนี้ รัฐบาลชุดใหม่จำเป็นต้องดำเนินนโยบายต่าง ๆ อย่างเร่งด่วน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการเพิ่มรายได้ และลดค่าใช้จ่ายของประชาชน

                การจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ในการนำของคุณแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีคนที่ 31 นั้น ประชาชนรอการแถลงนโยบายและการดำเนินงานของรัฐบาลว่าจะสามารถช่วยสนับสนุนการบริโภค และกระตุ้นเศรษฐกิจ ได้มากน้อยเพียงใด ซึ่งประชาชนทั่วไป นักธุรกิจ และผู้ประกอบการต่างต้องการความชัดเจนเกี่ยวกับนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ โดยเฉพาะนโยบายทางด้านเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ประชาชนขอให้รีบดำเนินการอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะโครงการแจกเงิน 10,000 บาท เพราะช่วงไตรมาสที่ 4 ในช่วงปลายปีเป็นช่วงไฮซีซั่น ประชาชนส่วนใหญ่นิยมเดินทางท่องเที่ยวและจับจ่ายใช้สอย หากประชาชนได้รับเงินช่วยเหลือจากภาครัฐเร็ว ก็จะสามารถจับจ่ายใช้สอยได้เร็ว ทำให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น ส่งผลให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นการต่อลมหายใจให้แก่ประชาชนที่กำลังเดือดร้อนอยู่ในขณะนี้

จากการสัมภาษณ์และรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในสิ่งที่ประชาชนต้องการได้รับจากรัฐบาลชุดใหม่ ดังนี้

  1. ประชาชนที่มีรายได้ต่ำถึงปานกลาง ที่ไม่ใช่กลุ่มเปราะบางต้องการให้รัฐบาลชุดใหม่เปลี่ยนการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตเป็นเงินสด เนื่องจากประชาชนจะได้นำเงินไปใช้ในสิ่งที่จำเป็น เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนที่เผชิญอยู่ในขณะนี้ และขอให้รัฐบาลชุดใหม่รีบดำเนินการให้เสร็จภายในเดือนตุลาคม 2567
  2. ร้านค้าในชุมชน ร้านค้าขนาดเล็ก หาบเร่ แผงลอย ต้องการรับเงินสดจากการขายสินค้า เพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่ายกับสิ่งที่จำเป็น และใช้จ่ายในครอบครัว รวมถึงการนำไปใช้หนี้
  3. ประชาชนที่นิยมเดินทางท่องเที่ยวในประเทศต้องการให้รัฐบาลชุดใหม่กระตุ้นและจูงใจให้เกิดการท่องเที่ยวแบบไทยเที่ยวไทย ในลักษณะเดียวกันกับโครงการเราเที่ยวด้วยกัน
  4. ประชาชนที่เป็นผู้สูงวัยที่ไม่ใช่ข้าราชการบำนาญ เมื่อถูกให้ออกจากงาน ต้องขาดรายได้ จึงต้องการให้ภาครัฐเพิ่มเงินผู้สูงอายุเป็น 3,000 บาท เพื่อให้เพียงพอต่อการใช้จ่าย
  5. ปัจจุบันค่าครองชีพและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ สูงขึ้นเป็นอย่างมาก ทำให้ประชาชนต้องใช้เงินจากรายได้ทั้งหมดไปกับค่าใช้จ่ายส่วนตัว และค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูบุตรและบิดามารดา ดังนั้น ประชาชนจึงต้องการให้รัฐบาลชุดใหม่เพิ่มสิทธิลดหย่อนภาษี ในส่วนของการลดหย่อนส่วนตัว การลดหย่อนสำหรับเลี้ยงดูบุตร และการเลี้ยงดูบิดามารดา โดยควรปรับเพิ่มให้สอดคล้องกับค่าใช้จ่ายที่เป็นจริง

จากการสัมภาษณ์และรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการออกกฎหมาย เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศ ดังนี้

  1. ประชาชนเสนอให้ผู้ที่เกี่ยวข้องออกกฎหมายให้ธนาคาร และบริษัทเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ ใช้ระบบ AI ในการคัดกรองบัญชีธนาคาร และหมายเลขโทรศัพท์มือถือที่ต้องสงสัยว่าอาจจะเป็นของแก็งคอลเซ็นเตอร์และมิจฉาชีพ เพื่อระงับการให้บริการ และออกมาตรการทางกฎหมายให้ธนาคาร และบริษัทเครือข่ายโทรศัพท์มือถือที่ปล่อยปละละเลยร่วมรับผิดชอบในการชดใช้จ่ายเงินให้แก่ผู้ที่สูญเสียเงินจากแก็งคอลเซ็นเตอร์ และมิจฉาชีพ
  2. ประชาชนเสนอให้ผู้ที่เกี่ยวข้องออกกฎหมาย ห้ามพรรคการเมืองหาเสียงด้วยการแจกเงิน เพราะการแจกเงินเป็นการแก้ปัญหาได้แค่ช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น แต่จะทำให้ประเทศเสียงบประมาณจำนวนมาก
  3. ประชาชนเสนอให้ผู้ที่เกี่ยวข้องออกกฎหมายเพื่อคัดสรรคณะรัฐมนตรีด้วยการกำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะเข้ามาเป็นรัฐมนตรี โดยกำหนดคุณสมบัติให้ผู้ที่จะเข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีในกระทรวงใด ๆ ก็ตาม จะต้องมีคุณวุฒิทางการศึกษา หรือมีประสบการณ์ที่สอดคล้องและเกี่ยวข้องกับกระทรวงนั้น เพื่อให้การบริหารงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
  4. ประชาชนเสนอให้ผู้ที่เกี่ยวข้องออกพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง โดยควรกำหนดให้พรรคการเมืองที่เข้าร่วมรัฐบาล และรับตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงใด จะต้องแสดงวิสัยทัศน์ว่าจะผลักดันนโยบายใดบ้าง และแต่ละนโยบายจะทำแล้วเสร็จเมื่อไร โดยให้พรรคการเมืองและรัฐมนตรีต้องรับผิดชอบต่อนโยบายดังกล่าว หากทำไม่ได้หรือทำไม่สำเร็จในระยะเวลาที่กำหนด  ทั้งนี้ ควรกำหนดบทลงโทษอย่างชัดเจน
  5. ประชาชนเสนอให้ผู้ที่เกี่ยวข้องออกกฎหมายบังคับใช้กับผู้ยื่นคำร้องทางการเมือง โดยผู้ที่จะยื่นคำร้องในเรื่องใดก็ตามจะต้องมีเสียงสนับสนุนจากประชาชนอย่างน้อย 1,000 คนขึ้นไป  หากไม่มีเสียงสนับสนุนจากประชาชน ก็ควรกำหนดบทลงโทษสำหรับผู้ยื่นคำร้อง กรณีที่คำพิพากษาไม่เป็นไปตามที่ผู้ยื่นคำร้องกล่าวหา

                จากการสัมภาษณ์และรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับความกังวลของประชาชนที่มีต่อสถานการณ์ประเทศ ดังนี้

  1. ประชาชนเบื่อสถานการณ์ทางการเมืองในขณะนี้ ซึ่งเป็นลักษณะของการเมืองแบบเก่า โดยเห็นนักการเมืองต่างแย่งชิงผลประโยชน์ ทั้งในพรรคการเมืองเดียวกันและต่างพรรคการเมือง ซึ่งนักการเมืองเหล่านี้หวังแต่ผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง โดยไม่ได้คำนึงถึงประเทศชาติและประชาชน  ทั้งนี้ ประชาชนกังวลว่า หากนักการเมืองไทยยังเป็นเช่นนี้ ประเทศชาติก็จะไม่เกิดการพัฒนา รวมถึงปัญหาของประเทศและปัญหาของประชาชนก็จะไม่ได้รับแก้ไข ประชาชนจึงเสนอแนะให้แก้ไขกฎหมาย เช่น การให้ประชาชนเป็นผู้เลือกนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีโดยตรง
  2. การแสดงวิสัยทัศน์ด้านเศรษฐกิจของคุณทักษิณ ชินวัตร เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2567  ประชาชนเห็นด้วยหลายประเด็น หากมีการนำไปปฏิบัติจริง ทั้งนี้ ประชาชนมีความกังวลและไม่มั่นใจว่ารัฐบาลแพทองธารจะสามารถทำได้
  3. ประชาชนมีความกังวลเกี่ยวกับสถานบันเทิงครบวงจร (Entertainment Complex) ในหลายประเด็น อย่างไรก็ตาม หากจะดำเนินโครงการฯ ประชาชนไม่เห็นด้วยที่จะตั้งอยู่ในเขตเมือง เพราะจะทำให้เกิดปัญหาจราจร และปัญหาสังคมอีกมากมาย จึงควรกำหนดกฎหมายเกี่ยวกับการตั้งสถานบันเทิงครบวงจรให้อยู่ห่างไกลจากเขตเมืองอย่างน้อย 10 กิโลเมตร เพื่อช่วยกระจายความเจริญไปสู่นอกเมืองด้วย
  4. ประชาชนมีความกังวลและไม่เห็นด้วยกับการออกกฎหมายให้ต่างชาติเช่าที่ดิน 99 ปี เพราะหากมีต่างชาติมาเช่าที่ดินในประเทศไทยจำนวนมาก ราคาที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ก็จะสูงขึ้น ทำให้คนไทยจำนวนมากไม่สามารถซื้อได้ แต่ต้องไปเช่าที่ของชาวต่างชาติ ก็เสมือนกับประเทศไทยเป็นเมืองขึ้นของต่างชาติ 99 ปี
  5. ประชาชนมีความกังวลเกี่ยวกับนโยบายทางด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย โดยเฉพาะเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน และการเอื้อประโยชน์ให้แก่กลุ่มทุน เพราะจากภาพที่ปรากฏในการแสดงวิสัยทัศน์ของคุณทักษิณ ชินวัตร เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2567 พบว่า มีกลุ่มทุนจำนวนมากได้เข้าหาคุณทักษิณ ชินวัตร จำนวนมาก  ประชาชนจึงกังวลว่า การดำเนินการโครงการของรัฐบาลแพทองธาร อาจจะมีการเอื้อประโยชน์ระหว่างกลุ่มทุนกับกลุ่มพรรคการเมือง

                ผลคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่เชื่อว่าภาวะเศรษฐกิจโดยรวม และรายได้จากการทำงานเพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ 34.60 และ 34.30 ตามลำดับ ส่วนความเชื่อมั่นต่อรายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นในครัวเรือน และรายจ่ายด้านการท่องเที่ยว ในอีก 3 เดือนข้างหน้าเพิ่มขึ้น คิดเป็น ร้อยละ 35.80 และ 30.60  ตามลำดับ ในขณะที่ความเชื่อมั่นด้านความสุขในการดำเนินชีวิต การแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และการแก้ปัญหาเศรษฐกิจในอีก 3 เดือนข้างหน้าเพิ่มขึ้น  คิดเป็นร้อยละ 32.20, 30.50 และ 36.10 ตามลำดับ

Facebook Comments Box


Spread the love

Written by 

Related posts

Verified by ExactMetrics