ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม เดือนกรกฎาคม 2567

ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม เดือนกรกฎาคม 2567
Spread the love

ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม เดือนกรกฎาคม 2567

                      ศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ได้ดำเนินการจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อวัดการเปลี่ยนแปลงของ  สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคมของประชาชนในภาคใต้ เก็บแบบสอบถามกับกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ จำนวน 420 ตัวอย่าง

 

              ผลการสำรวจความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม เดือนกรกฎาคม 2567 เปรียบเทียบเดือนมิถุนายน 2567  และคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า

 

รายการ มิถุนายน 2567 กรกฎาคม 2567 คาดการณ์ใน 3 เดือนข้างหน้า
เพิ่มขึ้น/ คงที่/ ลดลง/ เพิ่มขึ้น/ คงที่/ ลดลง/ เพิ่มขึ้น/ คงที่/ ลดลง/
ดีขึ้น เท่าเดิม แย่ลง ดีขึ้น เท่าเดิม แย่ลง ดีขึ้น เท่าเดิม แย่ลง
1. ภาวะเศรษฐกิจโดยรวม 29.20 45.80 25.00 29.00 44.20 26.80 35.60 49.90 14.50
2. รายได้จากการทำงาน 27.30 45.10 27.60 27.10 44.80 28.10 35.30 49.10 15.60
3. รายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นในครอบครัว 32.40 46.80 20.80 32.20 46.30 21.50 36.80 50.20 13.00
4. รายจ่ายด้านการท่องเที่ยว เช่น การเดินทาง ที่พัก อาหาร และอื่น ๆ 29.10 45.60 25.30 29.20 45.00 25.80 34.70 45.20 20.10
5. ความสุขในการดำเนินชีวิต 27.50 46.20 26.30 27.30 46.00 26.70 30.50 45.80 23.70
6. ฐานะการเงิน (รายได้หักรายจ่าย) 28.00 46.30 25.70 28.20 45.60 26.20 32.60 45.80 21.60
7. การออมเงิน 26.80 46.00 27.20 26.50 46.10 27.40 33.30 45.50 21.20
8. การรักษามาตรฐานค่าครองชีพ 27.40 45.00 27.60 27.10 45.10 27.80 34.70 47.30 18.00
9. การลดลงของหนี้สิน 26.70 45.80 27.50 26.50 45.60 27.90 32.80 54.10 13.10
10. ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน 26.50 45.30 28.20 26.40 46.20 27.40 39.70 45.10 15.20
11. การแก้ปัญหายาเสพติด 24.50 45.10 30.40 24.60 45.50 29.90 34.70 51.70 13.60
12. การแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 26.50 45.40 28.10 26.30 45.30 28.40 32.80 54.10 13.10
13. การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ 27.60 45.70 26.70 27.50 45.50 27.00 39.70 45.10 15.20

  ความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ด้านเศรษฐกิจและสังคม เดือนพฤษภาคม มิถุนายน และกรกฎาคม 2567

รายการ 2567
พฤษภาคม มิถุนายน กรกฎาคม
1. ภาวะเศรษฐกิจโดยรวม 49.40 49.10 48.60
2. รายได้จากการทำงาน 43.90 43.80 43.50
3. รายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นในครอบครัว 60.70 60.80 60.60
4. รายจ่ายด้านการท่องเที่ยว เช่น การเดินทาง ที่พัก อาหาร และอื่น ๆ 49.50 49.20 48.70
5. ความสุขในการดำเนินชีวิต 50.30 50.10 50.00
6. ฐานะการเงิน (รายได้หักรายจ่าย) 43.30 43.20 43.10
7. การออมเงิน 41.10 41.10 41.00
8. การรักษามาตรฐานค่าครองชีพ 39.00 38.90 38.80
9. การลดลงของหนี้สิน 47.20 46.60 46.10
10. ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน 43.80 43.80 43.90
11. การแก้ปัญหายาเสพติด 38.60 38.40 38.70
12. การแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 35.00 35.00 34.80
13. การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ 41.10 40.70 40.50
14. ความเชื่อมั่นของประชาชนโดยรวม 44.90 44.60 44.40

 

                ผศ.ดร.วิวัฒน์  จันทร์กิ่งทอง ผู้จัดการศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ รายงานผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม เดือนกรกฎาคม 2567 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนโดยรวมเดือนกรกฎาคม (44.40) ปรับตัวลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมิถุนายน  (44.60) และเดือนพฤษภาคม  (44.90) โดยดัชนีที่มีการปรับตัวลดลง ได้แก่  ภาวะเศรษฐกิจโดยรวม  รายได้จากการทำงาน    รายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภค  รายจ่ายด้านการท่องเที่ยว  ความสุขในการดำเนินชีวิต  ฐานะการเงิน (รายได้หักรายจ่าย)  การออมเงิน การรักษามาตรฐานค่าครองชีพ  การลดลงของหนี้สิน  การแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ โดยปัจจัยลบที่สำคัญเกิดจากสภาพเศรษฐกิจของประเทศไทยที่ตกต่ำ

จากดัชนีความเชื่อมั่นประชาชนที่ผ่านมา การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโดยภาพรวมในช่วงไตรมาสที่ 1 อยู่ในช่วงทรงตัว และเริ่มมีการแนวโน้มที่ลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคม และจากผลการสำรวจ พบว่า การเติบโตของธุรกิจจะกระจุกอยู่กับกิจการขนาดใหญ่ ในส่วนกิจการขนาดเล็ก ร้านค้า หาบเร่ แผงลอย รวมถึงผู้ที่ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไปประสบกับปัญหารายได้ไม่เพียงกับรายจ่าย จนทำให้เกิดปัญหาหนี้ครัวเรือนในประเทศสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสภาพเศรษฐกิจที่ตกต่ำ และอาจเป็นเพราะอยู่ในช่วง Low Season  แต่สาเหตุที่สำคัญ คือ ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ดำเนินแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ล่าช้า โดยมุ่งเน้นและรอดำเนินการโครงการดิจิทัล วอลเล็ต เป็นหลัก จึงทำให้เศรษฐกิจของประเทศย่ำแย่ลงเรื่อย ๆ อีกทั้ง ในขณะนี้ประชาชนก็ยังไม่เห็นว่า ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลจะมีแผนสำรองใด ๆ ที่จะมาช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน

ในอดีตประชาชนส่วนหนึ่งมีความเชื่อมั่นในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของทีมเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย แต่ในปัจจุบันยุคสมัยเปลี่ยนไปมาก และเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว แต่พรรคเพื่อไทยกลับยังขับเคลื่อนเศรษฐกิจแบบล่าช้า และยึดมั่นในแนวความคิดของตนเองมากเกินไปโดยไม่ฟังเสียงประชาชน โดยมุ่งเน้นที่จะดำเนินโครงการดิจิทัล วอลเล็ต ตามนโยบายที่ได้หาเสียงไว้ จนแทบไม่ได้ให้ความสำคัญกับปัญหาเศรษฐกิจของประเทศที่ตกต่ำอยู่ในขณะนี้ เสมือนว่า “ประเทศชาติและประชาชนจะเสียหายอย่างไรไม่ว่า แต่พรรคเพื่อไทยเสียหน้าไม่ได้”  ยิ่งเวลาผ่านไป หากยังไม่เร่งแก้ปัญหา ย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศและจะทำให้ประชาชนเดือดร้อนมากยิ่งขึ้น อีกทั้ง เดือนสิงหาคมถึงตุลาคม ก็ยังอยู่ในช่วง Low Season  ในขณะที่โครงการดิจิทัล วอลเล็ต ที่ทีมเศรษฐกิจรัฐบาลจะนำมาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจนั้น คาดว่าจะเริ่มใช้ได้ในเดือนธันวาคม 2567 หรืออาจจะเริ่มใช้ได้ในไตรมาสที่ 1 ของปีพ.ศ. 2568  โดยตั้งแต่เดือนสิงหาคมถึงธันวาคม 2567 ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลเศรษฐา ควรออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบเร่งด่วนในการช่วยลดค่าครองชีพ และเพิ่มกำลังซื้อของประชาชน จนกว่าโครงการดิจิทัล วอลเล็ตจะเริ่มใช้ได้จริง

จากการสัมภาษณ์ประชาชนภาคใต้ในหลายสาขาอาชีพ เพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับความกังวล ความคาดหวัง และความต้องการของประชาชน มีดังนี้

  1. ร้านค้าขนาดเล็กขาดทุนและปิดกิจการจำนวนมาก เนื่องจากต้นทุนต่าง ๆ เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ราคาสินค้าสูงขึ้นตามไปด้วย ในขณะที่กำลังซื้อของประชาชนมีน้อยลง และการท่องเที่ยวในประเทศก็ลดลงเช่นกัน ทั้งนี้ ภาครัฐควรมีมาตรการเร่งด่วนในการช่วยลดต้นทุนให้แก่ผู้ประกอบการ และเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ประชาชน รวมถึงสนับสนุนการท่องเที่ยวในประเทศ ในลักษณะเดียวกันกับโครงการคนละครึ่ง และเราเที่ยวด้วยกัน เป็นต้น
  2. ร้านค้าส่วนหนึ่งเสนอให้ภาครัฐทบทวนและช่วยแก้ไขเงื่อนไขเพื่อให้ร้านค้าที่ขายสินค้า สามารถเบิกเงินสดได้ทันที ซึ่งจะทำให้ร้านค้าสามารถนำเงินสดมาใช้ในการดำเนินงาน และใช้ในครอบครัว อาทิ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าพนักงาน ค่าเช่า ค่าอาหาร  ค่าเล่าเรียนลูก  ค่าเดินทาง ค่ารักษาพยาบาล ฯลฯ หากร้านค้าขายสินค้าได้ แต่ไม่สามารถเบิกเงินสดได้ทันที  ร้านค้าที่ไม่มีเงินทุนสำรองกล่าวว่า ก็อาจจะไม่เข้าร่วมโครงการฯ  ในส่วนร้านค้าที่พอมีเงินทุนสำรองกล่าวว่า อาจจะลองเข้าร่วมโครงการฯ ในเดือนแรก แล้วค่อยพิจารณาว่าจะอยู่ต่อหรือออกจากโครงการฯ
  3. ประชาชนส่วนหนึ่งวอนให้ทีมเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทยช่วยพิจารณาปรับเปลี่ยน แก้ไขการใช้เงินดิจิทัล วอลเล็ต 10,000 บาท ใหม่ เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้เงินได้อย่างคล่องตัวและสามารถจับจ่ายใช้สอยในสิ่งที่จำเป็นและต้องการได้มากขึ้น โดยต้องการให้ทีมเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทยช่วยปลดล็อคให้ประชาชนสามารถใช้เงินดิจิทัล วอลเล็ตได้ทั่วประเทศไทย และสามารถซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องมือสื่อสารได้
  4. 4. ความกังวลของประชาชนต่อผลการพิจารณาถอดถอนนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ในวันที่ 14 ส.ค. ว่า จะพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหรือไม่ หากนายเศรษฐาถูกให้พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ใครจะมาเป็นนายกคนต่อไป และจะมีผลต่อนโยบายภาครัฐอย่างไร โดยเฉพาะโครงการดิจิทัล วอลเล็ตจะต้องยกเลิกหรือไม่

 

                ผลคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่เชื่อว่าภาวะเศรษฐกิจโดยรวม และรายได้จากการทำงานเพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ 35.60 และ 35.30 ตามลำดับ ส่วนความเชื่อมั่นต่อรายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นในครัวเรือน และรายจ่ายด้านการท่องเที่ยว ในอีก 3 เดือนข้างหน้าเพิ่มขึ้น คิดเป็น ร้อยละ 36.80 และ 34.70 ตามลำดับ ในขณะที่ความเชื่อมั่นด้านความสุขในการดำเนินชีวิต การแก้ปัญหาความ

ไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และการแก้ปัญหาเศรษฐกิจในอีก 3 เดือนข้างหน้าเพิ่มขึ้น  คิดเป็นร้อยละ 30.50, 32.80 และ 39.70 ตามลำดับ

Facebook Comments Box


Spread the love

Written by 

Related posts

Verified by ExactMetrics