สงขลา ขยายเวลาปิดเมืองอีก 14 วัน

Spread the love

จังหวัดสงขลาแถลงสถานการณ์โควิด-19 ยืนยันจัดสรรวัคซีนที่ได้รับตามความเสี่ยง เร่งฉีดให้กลุ่มผู้ป่วย 608 พร้อมชี้แจงขยายขยายมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และคำสั่งต่าง ๆ ตามประกาศข้อกำหนด พ.ร.ก ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 28


วันที่ (30 ก.ค.64)  จังหวัดสงขลาแถลงข่าว   สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19       โดยมีนายจารุวัฒน์  เกลี้ยงเกลา ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา พร้อมด้วยนายแพทย์ปพน ดีไชยเศรษฐ์ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสงขลา และนายสมเกียรติ ศิริชูทรัพย์ ประกันสังคมจังหวัดสงขลา เข้าร่วมแถลงข่าว


         นายจารุวัฒน์ เกลี้ยงเกลา ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดสงขลาว่า เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2564 ได้มีการประชุมผ่าน Conference กับนายกรัฐมนตรี ซึ่งประเด็นที่มีความสำคัญ คือการเตรียมรองรับผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยเน้นย้ำให้มีการเตรียมการไว้ให้พร้อม เพื่อรองรับผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19ที่เพิ่มขึ้น จังหวัดสงขลาเองมีความพร้อมทั้งสถานที่และบุคลากร อย่างไรก็ตามขอให้พี่น้องประชาชนปฏิบัติตามมาตรการ DMHTTA อย่างเคร่งครัด

         เรื่องการดำเนินการหมู่บ้านเข้มแข็ง สู้ภัยโควิด-19 หรือหมู่บ้านสีฟ้าในการร่วมมือร่วมใจกันทั้งเจ้าหน้าที่และประชาชนในหมู่บ้านในการเฝ้าระวังป้องกันโรค ซึ่งจังหวัดสงขลาได้ดำเนินการเรื่องนี้มาโดยตลอด สำหรับมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ใน 13 จังหวัดควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ยังไม่คลี่คลาย จึงได้มีการพิจารณาให้ขยายมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และคำสั่งต่าง ๆ ตามประกาศข้อกำหนด พ.ร.ก ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 28 ยกระดับมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด กำหนดมาตรการที่จำเป็นและเร่งด่วน เพื่อลดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ฉบับที่ 28 ต่อไปอีก 14 วัน จนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น

         โดยจังหวัดสงขลาจะมีการขยายบังคับใช้มาตรการต่าง ๆ เช่นมาตรการงดออกนอกเคหะสถาน หรือเคอร์ฟิว มาตรการปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว มาตรการห้ามการรวมกลุ่มเกิน 5 คน งดการจัดเลี้ยง มาตรการเกี่ยวกับร้านอาหาร และตลาด การกำหนดเงื่อนไขการใช้เส้นทางคมนาคม และการตรวจคัดกรองกรณีเดินทางเข้าออกพื้นที่จังหวัดสงขลา และการขยายระยะเวลาการห้ามเข้าพื้นที่ คาดว่าในวันนี้ ศบค.จะมีการประชุมหารือหากมติเป็นอย่างไรจังหวัดสงขลาจะได้นำมาปรับใช้ให้สอดคล้องและแจ้งให้ประชาชนได้รับทราบอีกครั้ง

          สำหรับโรงงานในจังหวัดสงขลาที่มีผู้ติดเชื้อมีจำนวน 26 โรงงาน สั่งปิดทำการ 6 โรงงาน กำหนดให้ทำ Bubble and Seal 9 โรงงาน ที่สำคัญได้บังคับใช้ให้แต่ละโรงงานจัดสถานที่ให้พนักงาน (Factory Quarantine) แยกกักตัวพนักงานเพื่อไม่ให้สัมผัสกับบุคคลภายนอก และยังสามารถทำงานได้
          สำหรับโรงงานที่ไม่มีผู้ติดเชื้อได้ให้ดำเนินการกำหนดมาตรการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อในโรงงานตามมาตรฐานที่กำหนด หรือหากมีความสามารถในการทำ Factory Quarantine    ก็ให้ดำเนินการเพื่อให้เกิดความมั่นใจได้ว่าจะไม่มีผู้ติดเชื้อเกิดขึ้นในโรงงาน      สำหรับการเตรียมการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 กำหนดจัดตั้งโรงพยาบาลสนามหรือ ศูนย์ CIC ทุกอำเภอ และในพื้นที่ชุมชน จังหวัดสงขลาสมารถรองรับผู้ติดเชื้อได้อีกจำนวนมาก
           อย่างไรก็ตามเพื่อไม่ให้เกิดความประมาท ได้เตรียมดำเนินการเปิดโรงพยาบาลเพิ่มเติม เพื่อรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ได้เพียงพอ ในส่วนการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ ขณะนี้ได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสำรวจและรวบรวมรายชื่อผู้ที่ได้รับความเดือนร้อนในอำเภอต่าง ๆ จะได้ดำเนินการมอบเครื่องอุปโภคบริโภคเพื่อบรรเทาความเดือนร้อนในเบื้องต้น หากผู้ที่มีความเดือดร้อนสามารถแจ้งผ่านผู้บริหารท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือแจ้งมายังจังหวัดสงขลา เพื่อดำเนินการช่วยเหลือต่อไป
 
 
           นายแพทย์ปพน  ดีไชยเศรษฐ์  รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสงขลา ได้รายงานสถานการณ์ผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ประจำ วันนี้ (30 ก.ค.64) พบผู้ติดเชื้อ 324 ราย เสียชีวิต 1 ราย ผู้ป่วยจากการตรวจคัดกรองเชิงรุกในพื้นที่ ต.หัวเขา อ.สิงหนครและสัมผัสผู้ป่วยยืนยัน อ.สิงหนคร รวม จำนวน 74 ราย ผู้ป่วยจากการตรวจคัดกรองเชิงรุกในกลุ่มพนักงานโรงงานอุตสาหกรรม 10 แห่ง และผู้สัมผัส รวมจำนวน 43 ราย ผู้ป่วยจากการตรวจคัดกรองกลุ่มเสี่ยงในชุมชน / ตลาด และผู้สัมผัสเสี่ยงสูง และผู้สัมผัส รวมจำนวน 12 ราย กลุ่มผู้เดินทางและกลุ่มผู้สัมผัสผู้ป่วยยืนยันจากต่างจังหวัด จำนวน 11 ราย กลุ่มผู้สัมผัสผู้ป่วยยืนยันในอำเภอต่างๆ จำนวน 86 ราย ผู้ป่วยจากการติดตามผู้สัมผัสเสี่ยงสูงอื่นๆ จำนวน 98 ราย ยอดสะสมผู้ติดเชื้อระลอกใหม่จำนวน 11,702 ราย แบ่งเป็นผู้ป่วยในกลุ่มสีเขียว คือไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อยคิดเป็นร้อยละ 75 ผู้ป่วยกลุ่มสีเหลืองมีอาการ ไอ เจ็บคอ ฯลฯ แต่ไม่รุนแรง คิดเป็นร้อยละ 22 และกลุ่มสีแดงคือผู้ป่วยที่เชื้อลงปอด อาการรุนแรง คิดเป็นร้อยละ 2 นอกจากนี้มีผู้ป่วยที่รับกลับมารักษาจากกรุงเทพฯ และปริมณฑล ตามแคมเปญ “สงขลาไม่ทอดทิ้งกัน รับคนสงขลาหลบเริน” จำนวน 45 คน สำหรับการใช้สมุนไพรไทยในการรักษาผู้ป่วยถือว่าได้ผลดี โดยมีการจ่ายยาสมุนไพรให้กับผู้ป่วยตามอาการอย่างเหมาะสมและแพทย์ต้องพิจารณาเป็นรายบุคคล
 
          กรณีชุมชนหัวเขาได้มีการปิดชุมชน และแยกตัวผู้ติดเชื้อไปรักษาตัวเรียบร้อยแล้วโดยได้มีการคัดกรองเชิงรุก วันนี้พบเชื้อเพิ่ม 45 ราย หลังจากนี้จะมีการเข้าคัดกรองเชิงรุกอีกครั้ง และกำหนดให้รักษาตัวแบบ Home Isolation สำหรับผู้ที่สามารถทำได้ โดยจะมีเจ้าหน้าที่ส่งยาและอุปกรณ์ในการรักษา และมีเจ้าหน้าที่ดูแลให้คำแนะนำ
 
          กรณีการจัดสรรวัคซีน เดิมจังหวัดสงขลาได้รับแจ้งจาก ศบค.ว่าจังหวัดสงขลาจะได้รับจัดสรรวัคซีนจำนวน 250,000 โด๊ส เนื่องจากบริษัทผู้ขายที่ต้องจัดส่งวัคซีนให้กับประเทศไทยไม่ได้ส่งให้ตามนัดหมาย ทำให้จังหวัดสงขลาได้รับวัคซีนไม่ครบตามจำนวนโดยได้รับมา ประมาณ 150,000 กว่าโด๊ส จึงต้องจัดสรรวัคซีนให้ตามความเสี่ยงที่กำหนดก่อนตามลำดับ โดยแผนการฉีดวัคซีนในช่วงสัปดาห์นี้ จะเร่งฉีดให้กลุ่มผู้ป่วย 608 (อายุ 60 ปีขึ้นไป 7 โรคเรื้อรัง และหญิงตั้งครรภ์) นอกจากนี้ได้มีการทำงานเชิงรุก ลงพื้นที่ไปฉีดวัคซีนให้กับผู้ป่วยติดเตียงและผู้ดูแลด้วย
          กรณีการลงทะเบียนจองการฉีดวัคซีนซิโนฟาร์ม ของ อบจ.สงขลา กรณีวัคซีนมาไม่ตรงตามกำหนดทำให้ขณะนี้ อบจ.ได้รับการจัดสรรวัคซีน ซึ่งสามารถฉีดให้ประชาชนได้ จำนวน 18830 คน เทศบาลนครหาดใหญ่ 8000 คน และเทศบาลเมืองคลองแห 800 คน ซึ่งขณะนี้ก็ได้มีการลงทะเบียนเติมจำนวนที่กำหนดแล้ว จากนั้นจะมีการรวมรวมข้อมูลและกำหนดสถานที่ในการฉีดวัคซีน ซึ่งจะมีการประชุมและชี้แจงรายละเอียดให้ทราบต่อไป
 
           ด้านนายสมเกียรติ  ศิริชูทรัพย์ ประกันสังคมจังหวัดสงขลา กล่าวถึงมาตรการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ สำหรับรายละเอียดผู้ที่จะได้รับเงินเยียวยา จากมติ ครม. ที่กำหนดเยียวยาผู้ประกันตน มาตรา 33 ซึ่งคณะนี้สำนักงานประกันสังคมจังหวัดสงขลาได้ส่งหนังสือไปยังผู้ประกอบการแล้ว หากได้รับแล้วขอให้รีบดำเนินการส่งหนังสือกลับมา โดยในหนังสือมีรายระเอียดเกี่ยวกับสถานประกอบการและลูกจ้าง จำนวนเงินที่ได้รับการเยียวยา
            สำหรับนายจ้างที่เป็นนิติบุคคลจะต้องเอกสารตามที่ได้แจ้งไปด้วยเช่นกัน ในส่วนของนายจ้างที่เป็นบุคคลธรรมดาก็จะมีหนังสือแบบเดียวกันส่งไป โดยให้ดำเนินการผูกพร้อมเพย์ไว้กับบัตรประชาชน หลังจากนี้จะมีการบันทึกข้อมูลเข้าระบบ ส่งไปยังส่วนกลางและเข้าสู่ระบบการจ่ายเงิน คาดว่าครั้งแรกจะเริ่มจ่ายให้ในวันที่ 6 สิงหาคม 2564 ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลก่อน
            ทั้งนี้จะมีบางกิจการที่ไม่ได้รับการเยียวยาอย่างไรก็ตามสามารถตรวจสอบรับทราบเหตุผลได้ที่ สำนักงานประกันสังคม สำหรับผู้ประกันตนมาตรา 39 – 40 จะมีการรับสมัครเพิ่มเติมจนสิ้นเดือน กรกฎาคม 2564 สำหรับจังหวัดสงขลาในเดือนนี้มีการสมัครเพิ่มเข้ามาจำนวนมาก จะมีการประมวลข้อมูลและส่งไปยังส่วนกลางเพื่อดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป ผู้ที่ได้ดำเนินการสมัครมาตรา 39,40 แล้วให้ผูกพร้อมเพย์กับบัตรประชาชนไว้ โดยไม่จำเป็นต้องยื่นเอกสารใดเพิ่มเติม
Facebook Comments Box


Spread the love

Written by 

Related posts

Verified by ExactMetrics