ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม เดือนเมษายน 2563           

Spread the love

ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม เดือนเมษายน 2563               

               ศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ได้ดำเนินการจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อวัดการเปลี่ยนแปลงของ  สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคมของประชาชนในภาคใต้ เก็บแบบสอบถามกับกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ จำนวน 420 ตัวอย่าง

              ผลการสำรวจความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม เดือนเมษายน เปรียบเทียบเดือนมีนาคม และคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า

 

รายการข้อคำถาม มีนาคม เมษายน คาดการณ์ใน 3 เดือนข้างหน้า
เพิ่มขึ้น/ คงที่/ ลดลง/ เพิ่มขึ้น/ คงที่/ ลดลง/ เพิ่มขึ้น/ คงที่/ ลดลง/
ดีขึ้น เท่าเดิม แย่ลง ดีขึ้น เท่าเดิม แย่ลง ดีขึ้น เท่าเดิม แย่ลง
1. ภาวะเศรษฐกิจโดยรวม 23.70 44.50 31.80 22.50 46.70 29.80 39.60 49.80 10.60
2. รายได้จากการทำงาน 23.10 43.70 33.20 22.30 47.40 30.30 32.80 35.70 31.50
3. รายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นในครอบครัว 35.40 47.10 17.50 32.60 45.80 21.60 27.30 55.10 17.60
4. รายจ่ายด้านการท่องเที่ยว เช่น การเดินทาง ที่พัก อาหาร และอื่น ๆ 23.80 40.30 35.90 22.60 43.60 33.80 36.80 48.60 14.60
5. ความสุขในการดำเนินชีวิต 27.90 45.70 26.40 25.50 47.30 27.20 23.50 43.70 33.30
6. ฐานะการเงิน (รายได้หักรายจ่าย) 25.20 47.10 27.70 24.80 45.30 29.90 33.80 48.80 17.40
7. การออมเงิน 25.60 46.40 28.00 24.20 48.10 27.70 30.50 43.00 26.50
8. ค่าครองชีพ 32.50 45.80 21.70 32.90 47.20 19.90 33.50 46.80 19.70
9. ภาระหนี้สิน 29.70 49.70 20.60 30.20 46.10 23.70 32.10 45.10 22.80
10. ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน 21.20 43.40 35.40 24.60 42.10 33.30 35.60 27.20 37.20
11. การแก้ปัญหายาเสพติด 27.80 46.10 26.10 28.30 47.80 23.90 35.60 51.30 13.10
12. การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ 23.80 47.50 28.70 22.60 45.60 31.80 34.70 51.70 13.60
13. การแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 26.40 47.90 25.70 25.20 48.70 26.10 31.70 47.50 20.80
                       

  

     ความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม เดือนกุมภาพันธ์ มีนาคม และเมษายน 2563

รายการข้อคำถาม กุมภาพันธ์ มีนาคม เมษายน
1. ภาวะเศรษฐกิจโดยรวม 44.30 42.10 40.80
2. รายได้จากการทำงาน 42.10 39.70 37.20
3. รายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นในครอบครัว 47.50 47.20 45.60
4. รายจ่ายด้านการท่องเที่ยว เช่น การเดินทาง ที่พัก อาหาร และอื่น ๆ 40.70 38.40 35.20
5. ความสุขในการดำเนินชีวิต 47.60 46.80 45.90
6. ฐานะการเงิน (รายได้หักรายจ่าย) 41.50 39.50 37.70
7. การออมเงิน 43.60 42.70 41.40
8. ค่าครองชีพ 38.70 39.80 41.60
9. ภาระหนี้สิน 37.80 39.20 42.20
 10. ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน 36.10 34.70 35.70
11. การแก้ปัญหายาเสพติด 49.20 49.80 50.20
12. การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ 38.80 36.40 34.90
13. การแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 35.10 35.70 34.80
14. ความเชื่อมั่นของประชาชนโดยรวม 43.40 41.20 39.40

 

                ผศ.ดร.วิวัฒน์  จันทร์กิ่งทอง ผู้จัดการศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ รายงานผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม พบว่า ในเดือนเมษายนดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนโดยรวมปรับตัวลดลง โดยดัชนีที่ปรับตัวลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมีนาคม ได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจโดยรวม รายได้จากการทำงาน รายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นในครอบครัว รายจ่ายด้านการท่องเที่ยว ความสุขในการดำเนินชีวิต ฐานะการเงิน (รายได้หักรายจ่าย) การออมเงิน และการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ โดยปัจจัยลบที่เป็นต้นเหตุของปัญหาทั้งหมด คือ การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ลุกลามและแพร่ระบาดเกือบทุกจังหวัดในภาคใต้ เว้นเพียงจังหวัดระนอง  อย่างไรก็ตาม ประชาชนภาคใต้ส่วนหนึ่งมีความพึงพอใจในแนวทางการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ของภาครัฐ โดยการนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่สามารถควบคุมโรคโควิด-19 ไม่ให้ลุกลามบานปลายจนเกิดการเสียชีวิตของประชาชนจำนวนมาก  แต่ในทางกลับกันประชาชนอีกส่วนหนึ่งกลับมองว่า ภาครัฐไม่สามารถแก้ปัญหาปากท้องของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพและทั่วถึง ทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบ เนื่องจากไม่มีรายได้ในการดำรงชีพ เพราะอยู่ในช่วงประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และสั่งปิดสถานประกอบการต่าง ๆ ทำให้ประชาชนตกงานจำนวนมาก และประชาชนส่วนหนึ่งไม่มีเงินแม้กระทั่งจะซื้อข้าวกิน ต้องรอลุ้นเงินเยียวยาจากภาครัฐ และรอรับของบริจาคจากหน่วยงานหรือผู้ใจบุญ 

                อย่างไรก็ตาม ประชาชนภาคใต้แสดงความคิดเห็นว่า ภาครัฐควรบริหารประเทศในช่วงวิกฤตไวรัสโควิด-19 ให้เกิดความสมดุล ระหว่างปากท้องของประชาชนกับการป้องกันโรคโควิด-19 ไม่ให้แพร่ระบาด และกลับมาอีกในระลอก 2  เหมือนประเทศญี่ปุ่น และสิงคโปร์ ซึ่งนับว่าเป็นปัญหาที่ท้าทายอย่างมากสำหรับภาครัฐต่อการตัดสินใจในสถานการณ์ที่วิกฤตอยู่ในขณะนี้

                จากการสัมภาษณ์ประชาชนภาคใต้ในหลายสาขาอาชีพ เพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดขึ้น แนวทางการแก้ไข และความคิดเห็นต่อมาตรการต่าง ๆ ของภาครัฐ รวมถึงข้อเสนอแนะต่าง ๆ มีรายละเอียดดังนี้

  1. ภาครัฐได้มีมาตรการควบคุมโรคระบาดโควิด-19 เพื่อช่วยเหลือและดูแลประชาชนในหลาย ๆ ด้าน ซึ่งครอบคลุมหลากหลายกลุ่ม ทั้งภาคธุรกิจเอกชน ประชาชนทั่วไป และผู้ด้อยโอกาส แต่ประชาชนส่วนหนึ่งขาดความเข้าใจและการเข้าถึงมาตรการความช่วยเหลือต่าง ๆ ได้แก่ ประชาชนที่ไม่มีสมาร์ทโฟนและอินเทอร์เน็ต ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส ภาครัฐควรเพิ่มช่องทางอำนวยความสะดวกสำหรับประชาชนกลุ่มดังกล่าว
  2. ในช่วงวิกฤตโควิด-19 ประชาชนในหลายชุมชนได้รับความเดือดร้อน และไม่สามารถเข้าถึงการช่วยเหลือจากภาครัฐหรือภาคเอกชนได้ จึงเสนอให้ภาครัฐจัดทำถุงยังชีพ ที่เป็นสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิต และนำไปแจกให้ตามชุมชนต่าง ๆ อย่างทั่วถึงในทุกสัปดาห์ เป็นระยะเวลา 2-3 เดือน หรือจนกว่าสถานการณ์วิกฤต   โควิด-19 จะคลี่คลายเป็นปกติ  เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนในช่วงนี้  ทั้งนี้ควรมีการตรวจสอบถึงสิ่งจำเป็นในถุงยังชีพ และราคาสินค้าที่ตรงกับความเป็นจริง
  3. ประชาชนที่ตกงานส่วนหนึ่งไม่มีเงินเก็บ และไม่มีรายได้เสริมอื่น ๆ ทำให้ไม่มีเงินที่จะซื้อข้าวกิน  โดยประชาชนกลุ่มนี้ต่างหวังว่าจะมีที่ไหนประกาศการบริจาคข้าวกล่อง ก็จะไปต่อคิว  แม้จะเดินทางไกลแค่ไหน และจะร้อนเพียงใด ก็ยอม เพียงขอให้มีอาหารประทังชีวิตอยู่ได้  จึงเสนอให้ภาครัฐควรจัดสรรงบประมาณส่วนหนึ่งในการจัดตั้งโรงทานในแต่ละชุมชนทั่วประเทศ 2-3 มื้อต่อวัน เป็นระยะเวลา 2-3 เดือน หรือจนกว่าสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 จะคลี่คลายเป็นปกติ เพื่อช่วยให้ประชาชนไม่ต้องอดอยาก และมีอาหารกินอย่างแน่นอน
  4. 4. จากมาตรการเคอร์ฟิวเพื่อควบคุมประชาชนในช่วงเวลา 00 -22.00 น. ทำให้ประชาชนภาคใต้ที่จำเป็นต้องประกอบอาชีพในช่วงเวลาดังกล่าว ได้แก่ ชาวสวนยางพารา ชาวประมง เสี่ยงต่อการกระทำผิด ซึ่งเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายควรผ่อนปรนให้ประชาชนได้ประกอบอาชีพอย่างเหมาะสม
  5. การจัดตั้งคลินิกด้านสุขภาพจิตในแต่ละชุมชนเพื่อให้คำปรึกษา และให้ความช่วยเหลือประชาชนผู้ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 เกิดความเครียดสะสม มีความวิตกกังวล จนเกิดเป็นโรคซึมเศร้า  ซึ่งนับวันจะมีผู้ป่วยที่เป็นโรคซึมเศร้าจำนวนมากขึ้น สังเกตได้จากการฆ่าตัวตาย และการคิดฆ่าตัวตายในแต่ละวัน ซึ่งหากนับจากผู้ที่ฆ่าตัวตายเนื่องจากโรคซึมเศร้าในช่วงที่ผ่านมาอาจจะมากกว่าผู้ป่วยที่เสียชีวิตด้วยโรคโควิด-19  ทั้งนี้เพราะผู้ป่วยที่เป็นโรคซึมเศร้าเมื่อเข้าสู่ขั้นรุนแรง ผู้ป่วยจะไม่สามารถควบคุมตัวเองได้และไม่อยากมีชีวิตอยู่
  6. ภาครัฐควรมีการตรวจสอบการให้ข้อมูลที่เป็นเท็จของประชาชน สำหรับประชาชนที่รับความช่วยเหลือจากมาตรการต่าง ๆ เพื่อลดความผิดพลาดในการช่วยเหลือ  เนื่องจากประชาชนบางกลุ่มไม่ใช่ผู้เดือดร้อนจริงแต่ได้รับเงินเยียวยาจากภาครัฐ  ในขณะที่ประชาชนที่เดือดร้อนกลับไม่ได้รับเงิน ทำให้ประชาชนกลุ่มนี้เกิดความรู้สึกน้อยใจ และไม่เชื่อมั่นกับระบบการคัดกรองของระบบปัญญาประดิษฐ์ อีกทั้งรู้สึกถึงความเหลื่อมล้ำในการให้ความช่วยเหลือประชาชนของภาครัฐ
  7.   ภาครัฐควรผ่อนปรนให้รถโดยสารสาธารณะกลับมาให้บริการประชาชนในพื้นที่เสี่ยงโรคน้อยตามความเหมาะสม เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนที่ต้องเดินทางไปทำงานและช่วยเหลือผู้ประกอบการรถโดยสารสาธารณะด้วย
  8. จากการแถลงของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) พบว่า ยอดผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่ต้นเดือนเมษายนจนถึงปลายเดือนเมษายน มียอดผู้ติดเชื้อที่ลดลงตามลำดับ ซึ่งนับว่ามีแนวโน้มในทางที่ดีขึ้น  อย่างไรก็ตามประชาชนยังมีข้อสงสัยในเรื่องของจำนวนผู้เข้าตรวจเชื้อโควิด-19 ว่ามีจำนวนเท่าไรต่อวัน  คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ของผู้ติดเชื้อต่อการตรวจในแต่ละวันจำนวนเท่าไร และควรแสดงให้เห็นถึงจำนวนการตรวจของแต่ละจังหวัดว่าในแต่ละวันตรวจเชื้อโควิด-19 จำนวนกี่ราย และมีผู้ติดเชื้อกี่ราย คิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์  เนื่องจากหากมีการตรวจเชื้อจำนวนน้อย ย่อมพบผู้ติดเชื้อน้อย โดยเฉพาะจังหวัดที่ไม่มีการติดโรคโควิด-19 ในแต่ละวันมีการตรวจเชื้อจำนวนเท่าไร  ซึ่งข้อมูลในส่วนนี้ ศบค. ไม่ได้แสดงให้ประชาชนได้รับทราบ   
  9. ประเทศไทยควรจะมีเครื่องตรวจเชื้อโควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพ และสามารถทราบผลได้อย่างรวดเร็ว ไว้ตามโรงพยาบาลต่าง ๆ ครอบคลุมทุกจังหวัด และสามารถตรวจฟรีให้กับประชาชนที่มีอาการไข้สูงเกิน 37.5 องศาเซลเซียส  เพื่อลดความสุ่มเสี่ยงที่จะมีผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 นำเชื้อไปแพร่สู่ผู้อื่น โดยประชาชนภาคใต้จำนวนหนึ่งได้ให้ข้อมูลว่า พวกเขามีไข้สูงเกิน 37.5 องศาเซลเซียส  ตัวร้อน ไอ จาม และเจ็บคอ จึงเข้าไปขอตรวจเชื้อไวรัสโควิด-19 กับสถานพยาบาล โดยมีเจ้าหน้าที่ได้ซักถามว่าได้ไปใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัส       โควิด-19 หรือไม่ เขาตอบว่าไม่มี  ทางเจ้าหน้าที่บอกว่าหากจะตรวจก็ได้ แต่หากไม่พบเชื้อไวรัสโควิด-19 ผู้ตรวจจะต้องจ่ายค่าตรวจเอง   ผู้ป่วยส่วนหนึ่งจึงตัดสินใจไม่ตรวจ เพราะไม่มีเงินจ่ายค่าตรวจ  หากผู้ป่วยเหล่านี้เพียง 1 คนได้รับเชื้อโควิด-19 แทนที่จะได้รับการรักษา กักตัวไว้ แต่กลับปล่อยให้กลับบ้าน ซึ่งอาจจะนำเชื้อไปแพร่ระบาดกับผู้อื่นต่อไป
  10. ภาครัฐควรจัดสรรงบประมาณจำนวนหนึ่งให้กับหน่วยงานวิจัยของไทยในการคิดค้นวัคซีน และยารักษาโรคโควิด-19  ถึงแม้ว่าเชื้อไวรัสโควิด-19 จะหายขาดไปแล้วจนไม่พบผู้ติดเชื้ออีกเลย เป็นระยะเวลาหลายเดือนหรือเป็นปีก็ตาม  แต่ก็ไม่แน่ว่าเชื้อไวรัสโควิด-19 จะกลับมาอีกเมื่อไหร่ก็ได้   หรือจะกลายพันธุ์เป็นเชื้อไวรัสโควิด-20  แต่หากมีวัคซีนป้องกัน และยารักษาโรค  การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ก็จะไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไป

                หลังวิกฤตโควิด-19 การดำเนินชีวิตของคนจะเปลี่ยนไป หากไม่จำเป็นก็จะไม่ไปในที่มีคนพลุกพล่าน ผู้คนจะไม่กล้าเข้าใกล้ชิดกันมาก โดยจะเว้นระยะห่างเพราะไม่มีใครไว้ใจใคร  และเมื่อพบใครเป็นหวัด ไอ จาม หรือมีไข้สูง ก็จะรีบถอยห่างอย่างรวดเร็ว ผู้ป่วยดังกล่าวอาจจะไม่ได้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่จะถูกคนในสังคมรังเกียจ และไม่มีใครกล้าเข้าใกล้  ประชาชนส่วนใหญ่จะใส่แมสก์ หรือเฟสชิว เมื่อต้องออกไปพบกับผู้อื่น  นอกจากนี้พฤติกรรมผู้บริโภคก็จะเปลี่ยนไป  การสั่งซื้อสินค้าหรืออาหารผ่านทางออนไลน์มากขึ้น  รวมถึงการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงาน  การประชุม  การสัมมนาก็จะใช้ระบบการสื่อสารทางออนไลน์มากขึ้น เพราะประหยัดเวลา  ประหยัดค่าใช้จ่าย แต่ยังมีประสิทธิภาพเท่าเดิม  ทั้งนี้หน่วยงานต่าง ๆ ควรมีการปรับตัวไปในทิศทางเดียวกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มแม่บ้านเกษตรกร  กลุ่มวิสาหกิจชุมชน  กลุ่มผลิตภัณฑ์ OTOP  ร้านค้าปลีกขนาดเล็ก  ร้านอาหาร  หาบเร่ แผงลอย เป็นต้น  ซึ่งกลุ่มเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นชาวบ้าน เป็นกลุ่มรากหญ้าซึ่งไม่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับนวัตกรรม เทคโนโลยีสมัยใหม่  ภาครัฐควรหาแนวทางช่วยเหลือให้กลุ่มเหล่านี้สามารถดำเนินงานได้อย่างราบรื่น และสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน

                ขณะที่ผลคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ประชาชนส่วนใหญ่เชื่อว่าภาวะเศรษฐกิจโดยรวม และรายได้จากการทำงานจะเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 39.60 และ 32.80 ตามลำดับ ส่วนความเชื่อมั่นต่อรายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นในครัวเรือน และรายจ่ายด้านการท่องเที่ยว ในอีก 3 เดือนข้างหน้า จะเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 27.30 และ 36.80 ตามลำดับ ส่วนความเชื่อมั่นด้านความสุขในการดำเนินชีวิต การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ และการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในอีก 3 เดือนข้างหน้า จะเพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ 23.50

34.70 และ 31.70 ตามลำดับ

                 ปัจจัยที่ประชาชนส่วนใหญ่มองว่ามีผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบันมากที่สุด คือ ค่าครองชีพ คิดเป็นร้อยละ 28.30 รองลงมา คือ ราคาสินค้าสูง และราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ คิดเป็นร้อยละ 24.80 และ 12.30 ตามลำดับ ขณะที่ปัญหาเร่งด่วนที่ประชาชนส่วนใหญ่มองว่ารัฐบาลควรให้ความช่วยเหลือเป็นอันดับแรก คือ ค่าครองชีพ รองลงมา คือ สินค้าราคาสูง ตามลำดับ

Facebook Comments Box


Spread the love

Written by 

Related posts

Verified by ExactMetrics