“เจ้าพระยา – แม่ปิง” ชื่อดาวฤกษ์และดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะของขวัญส่งท้ายปี จากคะแนนโหวตชาวไทยสู่ความเป็นหนึ่งในเอกภพ  

Spread the love

“เจ้าพระยา – แม่ปิง” ชื่อดาวฤกษ์และดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะของขวัญส่งท้ายปี จากคะแนนโหวตชาวไทยสู่ความเป็นหนึ่งในเอกภพ  

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) เผย สหพันธ์ดาราศาสตร์นานาชาติ (IAU) ประกาศรับรองชื่อ “เจ้าพระยา-แม่ปิง” ชื่อที่ชาวไทยร่วมตั้งผ่านกิจกรรม “ตั้งชื่อไทยให้ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ ชูความเป็นไทยร่วมเป็นหนึ่งในเอกภพ” ให้เป็นชื่อดาวฤกษ์แม่และดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะอย่างเป็นทางการ นับเป็นข่าวน่ายินดีส่งท้ายปี 2562 นี้

ดร. ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่  17 ธันวาคม ที่ผ่านมา สหพันธ์ดาราศาสตร์นานาชาติ ได้ประกาศให้ชื่อ “เจ้าพระยา (Chaophraya) – แม่ปิง (Maeping)” เป็นชื่อของดาวฤกษ์แม่ WASP-50 และดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ WASP-50b อย่างเป็นทางการ 

           สดร. ได้จัดกิจกรรม “ตั้งชื่อไทยให้ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ ชูความเป็นไทยร่วมเป็นหนึ่งในเอกภพ” เปิดโอกาสให้คนไทยร่วมเสนอชื่อดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ WASP-50b และดาวฤกษ์แม่ WASP-50 ตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงเดือนสิงหาคม 2562 ที่ผ่านมา จากนั้นคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ได้ร่วมพิจารณาคัดเลือกจากจำนวนชื่อที่เสนอเข้ามามากกว่า 1,500 ชื่อ ให้เหลือเพียง 3 รายชื่อสุดท้าย แล้วนำทั้ง 3 รายชื่อ เปิดให้ประชาชนร่วมโหวตชื่อที่ถูกใจที่สุด ตั้งแต่วันที่ 1-31 ตุลาคม 2562 ภายใต้เงื่อนไข 1 คน 1 สิทธิ์โหวต ชื่อที่มีคะแนนโหวตสูงสุด ได้แก่ “เจ้าพระยา (Chaophraya) – แม่ปิง (Maeping)” ลำดับถัดมาได้แก่ ฟ้าหลวง (Fahluang) – ฟ้าริน (Fahrin) และ ประกายแก้ว (Prakaikaeo) – ประกายดาว (Prakaidao) จากผู้ร่วมโหวตทั้งสิ้นกว่า 4,000 คน จากนั้น สดร. ได้นำชื่อ “เจ้าพระยา-แม่ปิง” ในฐานะชื่อที่ได้รับคะแนนโหวตสูงสุด เสนอต่อสหพันธ์ดาราศาสตร์นานาชาติ และได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการในวันที่ 17 ธันวาคม 2562 ที่ผ่านมา

สำหรับชื่อ “เจ้าพระยา – แม่ปิง” เสนอโดย นางสาวดวงรัตน์ วิเชียรศรี ต้องการสื่อถึงแม่น้ำสายสำคัญของไทย เนื่องจากดาวทั้งสองอยู่ในกลุ่มดาวแม่น้ำ โดยแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นแม่น้ำสายหลักของประเทศซึ่งเกิดจากการไหลรวมของแม่น้ำ ปิง วัง ยม และน่าน ในอนาคตหากพบดาวเคราะห์ในระบบนี้เพิ่มเติมก็สามารถตั้งชื่อเป็นแม่น้ำสายอื่น ๆ ได้อีก

กิจกรรม “ตั้งชื่อไทยให้ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ” เป็นกิจกรรมที่ สดร. จัดขึ้นเพื่อร่วมเฉลิมฉลองครบรอบ 100 ปี สหพันธ์ดาราศาสตร์นานาชาติ ในกิจกรรม “The IAU100 NameExoWorlds” เปิดโอกาสให้ประเทศและดินแดนต่าง ๆ ทั่วโลก มีส่วนร่วมในการตั้งชื่อระบบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ กิจกรรมครั้งนี้มีประเทศและดินแดนที่เข้าร่วมจากทั่วโลกรวมทั้งสิ้นถึง 112 แห่ง และผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั่วโลกกว่า 780,000 คน สร้างความตื่นตัวและทำให้ผู้คนทั่วโลกได้ตระหนักว่าเราเป็นเพียงส่วนหนึ่งของเอกภพอันกว้างใหญ่ อีกทั้งยังช่วยสร้างแนวคิดที่ชัดเจนสำหรับการตั้งชื่อให้ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่อาจค้นพบในอนาคตด้วย

งานประชาสัมพันธ์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)

โทร. 053-121268-9 ต่อ 210-211 , 081-8854353 โทรสาร 053-121250

E-mail: pr@narit.or.th     Website : www.narit.or.th

Facebook : www.facebook.com/NARITpage

Twitter : @N_Earth,  Instagram : @NongEarthNARIT

Call Center กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โทร. 1313

 ข้อมูลเพิ่มเติม

กิจกรรม “ตั้งชื่อไทยให้ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ ชูความเป็นไทยร่วมเป็นหนึ่งในเอกภพ” จัดขึ้นเนื่องจากสหพันธ์ดาราศาสตร์นานาชาติ มีวาระครบรอบ 100 ปี จึงเปิดโอกาสให้ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกร่วมกันตั้งชื่อดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ ประเทศละ 1 ระบบ ประกอบด้วยดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ 1 ดวง และดาวฤกษ์แม่ 1 ดวง โดยพิจารณาให้สิทธิ์ตั้งชื่อระบบที่สามารถสังเกตการณ์ผ่านกล้องโทรทรรศน์ได้ในประเทศนั้นๆ สำหรับประเทศไทยเป็น 1 ใน 82 สมาชิกระดับประเทศของสหพันธ์ดาราศาสตร์นานาชาติ ได้รับสิทธิ์ตั้งชื่อดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ WASP-50b และดาวฤกษ์แม่ WASP-50 

ข้อมูลจำเพาะดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะและดาวฤกษ์แม่

 

ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ WASP-50b ถูกค้นพบในปี พ.ศ. 2554 ภายใต้โครงการ Wide Angle Search for Planets (WASP) ด้วยวิธีการผ่านหน้า (Transit Method) จัดเป็นดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะประเภทดาวพฤหัสบดีร้อน (Hot Jupiter) ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะดวงนี้ โคจรรอบดาวฤกษ์แม่ WASP-50 ซึ่งเป็นดาวฤกษ์สีเหลือง ประเภทเดียวกับดวงอาทิตย์ อยู่บริเวณทางใต้ของกลุ่มดาวแม่น้ำ (Eridanus) ห่างจากระบบสุริยะประมาณ 750 ปีแสง ปัจจุบัน ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ WASP-50b ยังคงเป็นบริวารดวงเดียวที่โคจรรอบดาวฤกษ์แม่ดวงนี้

 อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www.narit.or.th

 คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

กิจกรรม “ตั้งชื่อไทยให้ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ ชูความเป็นไทยร่วมเป็นหนึ่งในเอกภพ”

รายชื่อคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกชื่อไทยให้ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ ที่ สดร. แต่งตั้งและสหพันธ์ดาราศาสตร์นานาชาติเห็นชอบ จำนวน 7 ท่าน ดังนี้ 

  1.   ดร. ศรัณย์ โปษยะจินดา   ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ
  2.   รศ. บุญรักษา สุนทรธรรม ที่ปรึกษากลุ่มวิจัย สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ
  3.   นางสาวจุลลดา ขาวสะอาด ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ
  4.   ผศ. ดร. ศิรามาศ โกมลจินดา อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์และวัสดุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  1.   ดร. ศุภชัย อาวิพันธุ์       นักวิจัยด้านดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ  สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ    
  2.   นายอธิพงษ์ อมรวงศ์ปีติ   อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาอังกฤษ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  1.   นายกิตติ สิงหาปัด         สื่อมวลชนและผู้ประกาศข่าว

ความหมายของคู่ชื่อดาวฤกษ์แม่ – ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ ที่คณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกและเปิดให้ประชาชนร่วมโหวต ได้แก่

1) เจ้าพระยา (Chao Phraya) – แม่ปิง (Mae Ping)

แนวคิดการตั้งชื่อ :  เนื่องจากดาวทั้งสองอยู่ในกลุ่มดาวแม่น้ำ และแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นแม่น้ำสายหลักของประเทศไทยซึ่งเกิดจากการไหลรวมของแม่น้ำปิง วัง ยม และน่าน ในอนาคตหากพบดาวเคราะห์เพิ่มเติมก็สามารถตั้งชื่อเป็นแม่น้ำสายอื่นๆ ได้อีก

2) ประกายแก้ว (Prakaikaeo) -ประกายดาว (Prakaidao)

แนวคิดการตั้งชื่อ :  ประกายเเก้ว คือเเสงของความเเวววาวที่กระจายออกไปโดยรอบ เปรียบเสมือนดาวฤกษ์ ส่วนประกายดาว เปรียบเป็นแสงสะท้อนจากดาวฤกษ์ที่ตกกระทบดาวเคราะห์ที่โคจรเคียงคู่กัน

3) ฟ้าหลวง (Fahluang) – ฟ้าริน (Fahrin)

แนวคิดการตั้งชื่อ :  เนื่องจากเป็นวัตถุที่เราสังเกตไปในท้องฟ้าจึงใช้คำว่า “ฟ้า” นำ ส่วนคำว่าหลวงหมายถึงสิ่งที่ยิ่งใหญ่ ฟ้าหลวงจึงหมายถึงสิ่งที่ยิ่งใหญ่และเจิดจรัสบนท้องฟ้า จึงเหมาะสมต่อการตั้งเป็นชื่อดาวฤกษ์ ส่วนคำว่าฟ้าริน หมายถึงหยาดน้ำฟ้าหรือสิ่งที่รินไหลลงมาจากฟากฟ้า เป็นตัวแทนของดาวเคราะห์บริวารของฟ้าหลวง

คณะกรรมการพิจารณาชื่อดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะของสหพันธ์ดาราศาสตร์นานาชาติ

(The IAU100 NameExoWorlds Steering Committee) :

  • Guillem Anglada-Escudé, Queen Mary University of London, Spain
  • Piero Benvenuti, Former IAU General Secretary, Italy
  • John Brown Paul Strachan, Queen Mary University of London, United Kingdom
  • Lina Canas, IAU OAO Coordinator, Portugal
  • Sze-leung Cheung, Former IAU OAO Coordinator, Hong Kong, China
  • Debra Elmegreen, IAU President-Elect, USA
  • Alain Lecavelier des Etangs, Institut d’Astrophysique de Paris, France (Co-chair)
  • Lars Lindberg Christensen, IAU Press Officer, Denmark
  • John Brown Paul Strachan, Queen Mary University of London, United Kingdom
  • Eric Mamajek, Jet Propulsion Laboratory/California Institute of Technology, USA (Co-Chair)
  • Eduardo Penteado, IAU100 NameExoWorlds Project Manager, Brazil
  • Jorge Rivero González, IAU100 Coordinator, Spain
  • Gareth Williams, Harvard Smithsonian Center for Astrophysics, USA
  • Hitoshi Yamaoka, IAU NOC Japan, Japan

หน้าประกาศผลชื่อดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะของสหพันธ์ดาราศาสตร์นานาชาติ: http://www.nameexoworlds.iau.org/final-results

หน้าข่าวประชาสัมพันธ์การประกาศชื่อดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะของสหพันธ์ดาราศาสตร์นานาชาติ:

https://www.iau.org/news/pressreleases/detail/iau1912/

Facebook Comments Box


Spread the love

Written by 

Related posts

Verified by ExactMetrics